วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ประเทศทุกประเทศจะต้องจัดการเรื่องระเบียบการปกครอง การบริหารงานระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐจึงออกกฎหมายการปกครองออกมาใช้บังคับประชาชน

ความหมายของกฎหมายการปกครองในที่นี้ หมายถึง กฎหมายที่วางระเบียบการบริหารภายในประเทศ โดยวิธีการแบ่งอำนาจการบริหารงานตั้งแต่สูงสุดลงมาจนถึงระดับต่ำสุด เป็นการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของราชการผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร

โดยหลักทั่วไปทางวิชาการกฎหมายการปกครอง ได้จัดระเบียบการปกครองประเทศหรือที่เรียกว่า จัดระเบียบราชการบริหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ




การปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง (Centralization)
การปกครองแบบกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization)
การปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง (Centralization) หมายถึง การจัดระเบียบการปกครอง โดยรวมอำนาจการปกครองทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและต่างจังหวัดไดรับการแต่งตั้งถอดถอนและบังคับบัญชาจากส่วนกลางเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางกำหนดขึ้น เช่น การปกครองที่แบ่งส่วนราชการออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เป็นต้น

การปกครองแบบกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง การจัดระเบียบการ ปกครองโดยวิธีการยกฐานะท้องถิ่นหนึ่งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้วให้ท้องถิ่นนั้นดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระโดยการบริหารส่วนกลางจะไม่เข้ามาบังคับบัญชาใด ๆ นอกจากคอยดูแลให้ท้องถิ่นนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายในขอบเขตของกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นเท่านั้น เช่น การปกครองของเทศบาลในจังหวัดต่าง ๆ เทศบาลกรุงเทพมหานคร หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น

กฎหมายการปกครองที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย ได้ใช้รูปแบบการปกครอง ทั้งประเภทที่กล่าวมาแล้ว คือ ใช้ทั้งแบบรวมอำนาจและกระจายอำนาจ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการปฎิบัติงานของราชการ ให้มีสมรรถภาพ การกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆให้ชัดเจน เพื่อมิให้มีการปฎบัติงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างส่วนราชการต่างๆและเพื่อให้การบริหารในระดับต่างๆมีเอกภาพสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดได้ดี

ดังนั้น รัฐบาลจึงออกกฎหมายการปกครองขึ้นมา คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และฉบับที่ 5 พ.ศ.2545และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พอสรุปดังนี้

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ กติกาที่ยอมรับเป็นบรรทัดฐาน เพื่อให้การบริหารราชการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ อันได้แก่ ขนบธรรม-เนียมการปกครอง รัฐธรรมนูญและความจำเป็นในการบริหารงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
[แก้ไข] การบริหารราชการส่วนกลาง
การบริหารราชการส่วนกลางหมายถึง หน่วยราชการจัดดำเนินการและบริหารโดยราชการของ ส่วนกลางที่มีอำนาจในการบริหารเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จะมีลักษณะการปกครองแบบรวมอำนาจ หรือมีความหมายว่า เป็นการรวมอำนาจในการสั่งการ การกำหนดนโยบายการวางแผน การควบคุมตรวจสอบ และการบริหารราชการสำคัญ ๆ ไว้ที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตามหลักการรวมอำนาจ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จัดแบ่งออกได้ดังนี้

สำนักนายกรัฐมนตรี
กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเทียบเท่า กระทรวง
ทบวง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
การจัดตั้ง ยุบ ยกเลิก หน่วยงาน ตามข้อ 1- 4 ดังกล่าวนี้ จะออกกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติและมีฐานะเป็นนิติบุคคล

ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้จัดแบ่ง กระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง รวม 20 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธรณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

สำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของนากยรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นเครี่องของนากยรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นหัวใจของการบิหารราชการหรือเกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กิจการเกี่ยวกับการทำงบประมาณแผ่นดินและราชการอื่น ตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการอื่น ๆ ซึ่งมิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยเฉพาะ

สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกันนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และจะให้มีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติก็ได้

กระทรวง หมายถึง ส่วนราชการที่แบ่งออกเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุด รับผิดชอบงานที่กำหนดในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบาย และแผนการปฏิบัติราชการกระทรวง จะจัดระเบียบบริหารราชการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายในขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

กระทรวงหนึ่งๆมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนัมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้ ให้มีปลัดกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมราชการประจะในกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการประจำในกระทรวงจากรับมนตรี โดยมีรองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งการและปฏิบัติราชการแทน การจัดระเบียบราชการของกระทรวง ดังนี้

(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางทบวงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้
ทบวง เป็นหน่วยงานที่เล็กกว่ากระทรวง แต่ใหญ่กว่า กรม ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 25 ว่า ราชการส่วนใดซึ่งโดยสภาพและปริมาณของงานไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นกระทรสงหรือทบวง ซึ่งเทียบเท่ากระทรวงจะจัดตั้งเป็นทบวงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงเพื่อให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงและมีปลัดทบวง ซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของทบวงก็ได้และมีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม การจัดระเบียบราชการในทบวง มีดังนี้

(1) สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดทบวง
(3) กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้ส่วนราชการตาม (2) (3) มีฐานะเป็น กรม
กรม หมายถึง เป็นส่วนราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรืออาจเป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงอยู่ใต้การบังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการทรวงคนใดคนหนึ่งให้แบ่งส่วนราชการดังนี้

(1) สำนักงานเลขานุการกรม
(2) กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง เว้นแต่บางกรมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกองก็ได้
กรมใดมีความจำเป็น จะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวง หรือทบวงหรือทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมหรือตามกฏหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมนั้น

กรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และในกรณีที่มีกฏหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เป็นการเฉพาะ การอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายดังกล่าวให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

ปัจจุบันมีส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงหรือทบวง มี 9 ส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม คือ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การปฏิบัติราชการแทน อำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการใดที่ผู้ดำดงตำแหน่งใดพึงปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนได้ดังตัวอย่าง

1. นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับมอบจะมอบต่อไปไม่ได้เว้นแต่ผู้ว่าราชการจัวหวัดจะมอบต่อในจังหวัด อำเภอก็ได้
การรักษาราชการแทน ผู้ที่ได้รับอำนาจจะมีอำนาจเต็มตามกฎหมายทุกประการ ตัวอย่าง

1.นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการไม่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรักษาราชการแทน
2. ไม่มีปลัดกระทรวงหรือมี แต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองปลัดฯ ข้าราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีรักษาราชการแทน
3. ไม่มีอธิบดีหรือมีแต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองอธิบดี ผู้อำนวยการกองรักษาราชการแทน เป็นต้น
[แก้ไข] การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคหมายถึง หน่วยราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไปดำเนินการจัดทำตามเขตการปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการส่วนกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งออกไปประจำตามเขตการปกครองต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคเพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการส่วนกลางโดยมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นเพียงการแบ่งอำนาจการปกครองออกมาจากการบริหารส่วนกลาง

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการตามหลักการแบ่งอำนาจโดยส่วนกลางแบ่งอำนาจในการบริหารราชการให้แก่ภูมิภาค อันได้แก่จังหวัด มีอำนาจในการดำเนินกิจการในท้องที่แทนการบริหารราชการส่วนกลาง

ลักษณะการแบ่งอำนาจให้แก่การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง การมอบอำนาจในการตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไปประจำปฏิบัติงานในภูมิภาค เจ้าหน้าที่ในว่าในภูมิภาคให้อำนาจบังคับบัญชาของส่วนกลางโดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งถอดถอนและงบประมาณซึ่งเป็นผลให้ส่วนภูมิภาคอยู่ใการควบคุมตรวจสอบจากส่วนกลางและส่วนกลางอาจเรียกอำนาจกลับคืนเมื่อใดก็ได้

ดังนั้นในทางวิชาการเห็นว่าการปกครองราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจึงเป็นการปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง


การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดแบ่งออกได้ดังนี้

1. จังหวัด เป็นหน่วยราชการที่ปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด มีฐานะเป็นนิติบุคคลประกอบขึ้นด้วยอำเภอหลายอำเภอหลาย อำเภอ การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ

ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง และกรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชนและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่านบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ อาจจะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคณะปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้นเรียกว่า คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคนตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณีและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวงและทบวงต่าง ๆ เว้นแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งประจำอยู่ในจังหวัด กระทรวง และทบวงละหนึ่งคนเป็นกรมการจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นกรมการจังหวัดและเลขานุการ

ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัด ดังนี้

(1) สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัดของจังหวัดนั้นมีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด
(2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนั้นๆเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ
2. อำเภอ เป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนจังหวัด การจัดตั้ง ยุบเลิกและเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ กระทำได้โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบการบริหารราชการของอำเภอ นายอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย และให้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวงต่าง ๆส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ การแบ่งส่วนราชการของอำเภอ มีดังนี้

(1) สำนักงานอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของอำเภอนั้น ๆ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ
(2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมได้ตั้งขึ้นในอำเภอนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวงกรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ
[แก้ไข] การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหมายถึง กิจกรรมบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ท้องถิ่นจัดทำกันเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยเฉพาะโดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรงและมีอิสระในการบริหารงาน

อาจกล่าวได้ว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ เป็นการมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองกันเอง เพื่อให้ประชาชนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นการแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง และอาจยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในท้องที่ได้มากกว่า เพราะประชาชนในท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีกว่าผู้อื่น

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีดังนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด
เทศบาล
สุขาภิบาล
ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ได้แก่ สภาตำบลองค์การบริหารตำบลกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
[แก้ไข] องค์การบริหารส่วนจังหวัด
เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดที่อยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดแยกเป็นส่วนต่างหากจากการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในรูปของจังหวัด ในจังหวัดหนึ่งจะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง

องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

สภาจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด
[แก้ไข] เทศบาล
เป็นองค์การทางการเมืองที่ดำเนินกิจการอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ การจัดตั้งเทศบาลทำได้โดยการออกพระราชกฤษฎีกายกท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แบ่งเทศบาลออกเป็น

1. เทศบาลตำบล เทศบาลประเภทนี้ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การจัดตั้งไว้โดยเฉพาะ แต่อยู่ในดุลยพินิจของรัฐ

2. เทศบาลเมืองได้แก่ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ หนึ่งหมื่น คนขึ้นไป โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

3. เทศบาลนครได้แก่ท้องถิ่นที่มีประชาชนตั้งแต่ ห้าหมื่นคน ขึ้นไป และมีความหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีเทศบาลนครเพียงแห่งเดียว คือ เทศบาลนครเชียงใหม่

องค์ประกอบของเทศบาล ประกอบด้วย

1. สภาเทศบาล ประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้แทน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของคณะเทศมนตรี

2. คณะเทศมนตรี ทำหน้าที่บริหารกิจการของเทศบาล มีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีกระทำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นคณะเทศมนตรี ด้วยความเห็นชอบของสภาเทศบาล

3. พนักงานเทศบาล เป็นผู้ปฏิบัติงานของเทศบาล โดยมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานทั่วไปของเทศบาล

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นโดยประชาชนมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารงานของตำบลตามที่กฏหมายกำหนดไว้

อบต. ประกอบด้วย

1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านและแพทย์ประจำตำบล ราษฎรหมู่บ้านละ 2 คน
2. คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2 คนเลือกจากสมาชิกองค์การฯอีก 4 คน ประธานกรรมการบริหารและเลขานุการกรรมการบริหาร
อบต. มีหน้าที่ต้องทำในเขตอบต. ดังนี้

(1) ให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
(2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(3) ป้องภัยโรคและระงับโรคติดต่อ
(4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
(7) คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ

นอกเหนือจากหลักการโดยทั่วไปของการจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลได้จัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับความสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเฉพาะแห่ง ปัจจุบันมีการจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ 2 แห่ง คือ

การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
การบริหารราชการเมืองพัทยา
การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครประกอบด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สภากรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร 1 คน และรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ไม่เกิน 4 คน ทั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการ กทม. เป็นข้าราชการการเมือง และได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในกรุงเทพมหานคร

สภา กทม. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ควบคุมการบริหารราชการของผู้ว่าราชการ กทม. สภา กทม. ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน โดยถือเกณฑ์จำนวนประชาชน 1 แสนคนต่อสมาชิก 1 คน

ปลัดกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด และตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบดูแลราชการประจำของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร

การบริหารราชการเมืองพัทยา

จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย

สภาเมืองพัทยาประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จำนวน 9 คน และสมาชิกจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คนสภาเมืองพัทยา จะเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นนายกเมืองพัทยา สภาเมืองพัทยาทำหน้าที่ด้านนโยบายและแผนการดำเนินงาน และควบคุมการปฏิบัติงานประจำของเมืองพัทยา

ปลัดเมืองพัทยามีหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาตามนโยบายของสภาเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยามาจากการแต่งตั้งโดยสภาเมืองพัทยาตามที่นายกเมืองพัทยาเสนอผู้ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 3 คน


--------------------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาลยุติธรรม
ปัจจุบันนี้ศาลและกระทรวงยุติธรรมได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ทางด้าน การพัฒนาบุคลากรและการขยายศาลยุติธรรมให้กว้างขวางครอบคลุมคดีความทุกด้านตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพื่อประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยเสมอหน้าและเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ และทุกท้องที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม การที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมพัฒนาก้าวหน้ามาเช่นนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสถาบันยุติธรรมอย่างแน่นแฟ้นตลอดมาโดยทรงเป็นองค์ตุลาการตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา แม้ปัจจุบันศาลก็ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมได้สถาปนามาครบ 100 ปี (พ.ศ. 2535) ได้มีการจัดงานที่ระลึกขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนรอยไปสู่อดีต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายได้ทราบถึงความเป็นมาของศาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับกระบวนการยุติธรรม ย้อนร้อยอดีตไป 700 ปี เริ่มที่

[แก้ไข]
กรุงสุโขทัย
ในสมัยนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ดังคำพังเพยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประชาชนพลเมืองมีน้อย อยู่ในศีลในธรรมคดีความจึงมีไม่มาก พระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน พระมหากษัตริย์จึงทรงตัดสินคดีความด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มี หลักฐานจากศิลาจารึกว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงมอบให้ขุนนางตัดสินคดีแทนด้วย ในสมัยนี้พอมีหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง “ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม ไพร่ฟ้า ลูกเจ้า ลูกขุนผิแลผิแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้วจึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่อเข้าผู้ลักมักผู้ซ่อนเห็นข้าวท่านบ่อใคร่พิน เห็นสินท่านบ่อใคร่เดือด” จากศิลาจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การร้องทุกข์ในสมัยนั้นร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไต่สวนพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง หรือให้ขุนนางเป็นผู้ไต่สวนให้ถ่องแท้และตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่ลำเอียงและไม่รับสินบน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญใน การพิจารณาคดีในสมัยนั้น สำหรับสถานที่พิจารณาคดีที่เรียกว่า ศาลยุติธรรมนั้นในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีศาล ตัดสินคดีเหมือนในสมัยนี้ แต่ก็มีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ ป่าตาลเป็นที่พิจารณาคดี ซึ่งพอเทียบเคียงได้ว่าเป็นศาลยุติธรรมในสมัยนั้น “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้ 14 เท่า จึงให้ช่างฟันกระดาษเขียนตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนหก 8 วัน วันเดือนเต็มเดือนบั้ง ฝูงปู่ครูเถร มหาเถรขึ้นนั่งเหนือกระดานหินสวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงถ้วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือกระดาษหิน ให้ฝูงถ้วยลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงถ้วยถือบ้านถือเมือง ในกลางป่าตาลมีศาลา 2 อัน อันหนึ่งชื่อศาลพระมาส อันหนึ่งชื่อพุทธศาลา กระดานหินนี้ชื่อมนังคศิลาบาท” จากศิลาจารึกนี้พอเทียงเคียงได้ว่า ป่าตาลเป็นศาลยุติธรรม สมัยสุโขทัย และพระแท่นมนังคศิลาบาทเป็นเสมือนบัลลังก์ศาลในสมัยนั้น สำหรับกฎหมายที่ใช้ในสมัยสุโขทัยซึ่งปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งนั้น มีลักษณะคล้ายกฎหมายในปัจจุบัน เช่น กฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน “หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” กฎหมายพาณิชย์ “ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงินค้า ค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” นอกจากนั้นแล้วในหลักศิลาจารึกยังกล่าวถึงกฎหมายลักษณะโจรและการลงโทษ เช่น ขโมยข้าทาสของผู้อื่น “ผิผู้ใดหากละเมิน และไว้ข้าท่านพ้น 3 วัน คนผู้นั้นไซร้ท่านจะให้ไหมแลวันแลหมื่นพัน” นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียด้วย สำหรับการลงโทษในสมัยสุโขทัยตามหลักศิลาจารึก กฎหมายลักษณะโจรมีโทษเพียง ปรับเท่านั้น ไม่มีหลักฐานการลงโทษที่รุนแรงถึงตาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีไม่มากและเป็นผู้ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลในธรรมตามหลักพุทธศาสนา ประชาชนจึงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

[แก้ไข]
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บ้านเมืองก็เจริญขึ้นตามลำดับ ราษฎรก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้พระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้น จึงมิอาจทรงพระวินิจฉัยคดีความด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึงเช่นกาลก่อน จึงทรงมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยอรรถคดีของอาณาประชาราษฎร์ให้แก่ ราชครู ปุโรหิตา พฤฒาจารย์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์พราหมณ์ในราชสำนักและเสนาบดีต่าง ๆ เป็นผู้ว่าการยุติธรรมต่างพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจใกล้ชิดกับราษฎรเหมือนสมัยสุโขทัย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะดูเหมือนห่างไกลจากราษฎร แต่ว่าบทบาททางด้านการยุติธรรมนั้นกลับดูใกล้ชิดกับราษฎรอย่างยิ่ง โดยทรงเป็นที่พึงสุดท้ายของราษฎร ถ้าราษฎรเห็นว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีก็มีสิทธิที่จะถวายฎีกา เพื่อขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานความเป็นธรรมแก่ตนได้ ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรง พระวิจารณญาณวินิจฉัยอรรถคดีใดด้วยพระองค์เอง พระบรมราชวินิจฉัยในคดีนั้นก็เป็นบรรทัดฐานที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมพึงถือปฏิบัติสืบต่อมา ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยุติธรรมแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมี 3 กลุ่มได้แก่ ลูกขุน ณ ศาลหลวง ตระลาการ ผู้ปรับ การพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้กล่าวหาหรือผู้ที่จะร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อจ่าศาลว่าจะฟ้องความอย่างไรบ้าง จ่าศาลจะจดถ้อยคำลงในหนังสือแล้วส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงพิจารณาว่า เป็นการฟ้องร้องตามกฎหมายควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าเห็นควรรับไว้พิจารณาจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของศาลกรมไหนแล้วส่งคำฟ้องและตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น เช่น ถ้าเป็นหน้าที่กรมนา จะส่งคำฟ้องและโจทก์ไปที่ศาลกรมนา ตระลาการศาลกรมนาก็จะออกหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การไต่สวนเสร็จแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวงว่ามีข้อใดต้องสืบพยานบ้าง เมื่อลูกขุนส่งกลับมาแล้ว ตระลาการก็จะทำการสืบพยานเสร็จแล้วก็ทำสำนวนให้โจทก์และจำเลยหยิกเล็บมือที่ดินประจำผูกสำนวน เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นสำนวนของโจทก์ จำเลย แล้วส่งสำนวนคดีไปให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง ลูกขุน ณ ศาลหลวงจะพิจารณาคดีแล้วชี้ว่าฝ่ายใดแพ้คดี เพราะเหตุใดแล้วส่งคำพิพากษาไปให้ผู้ปรับ ผู้ปรับจะพลิกกฎหมายและกำหนดว่าจะลงโทษอย่างไรตามมาตราใด เสร็จแล้วส่งคืนให้กรมนา ตระลาการกรมนาจะทำการปรับไหมหรือลงโทษตามคำพิพากษา หากคู่ความไม่พอใจตามคำพิพากษา ก็สามารถอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ถ้ายังไม่พอใจก็สามารถถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้อีก ศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมี 4 ศาลตามการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยเริ่มที่กรมวังก่อนแล้วจึงขยายไปยังที่กรมอื่น ๆ ในตองกลางกรุงศรีอยุธยามีการตั้งกรมต่าง ๆ ขึ้นจึงมีศาลมากมายกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกรมของตน ในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยามีการรวมรวบกรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นกระทรวงจึงแบ่งศาลออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง สองศาลนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง ชำระความคดีอาญาและคดีความแพ่งทั้งปวง ศาลนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ชำระความคดีโจรผู้ร้าย เสี้ยนหนามแผ่นดิน ทั่วไป ศาลการกระทรวง ขึ้นอยู่กับกระทรวงอื่น ๆ ชำระคดีที่อยู่ในหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ส่วนสถานที่พิจารณาคดีหรือที่ทำการของศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากศาลหลวงที่ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ศาลอื่น ๆ ไม่มีที่ทำการโดยเฉพาะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ที่ทำการของศาลหรือที่พิจารณาคดีคงใช้บ้านของตระลาการของศาลแต่ละคนเป็นที่ทำการ สำหรับที่ตั้งของศาลหลวงนั้นมีหลักฐานตามหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 63ว่าด้วยตำนานกรุงเก่ากล่าวว่า ศาลาลูกขุนนอก คือศาลหลวงคงอยู่ภายในกำแพงชั้นนอกไม่สู้ห่างนัก คงจะอยู่มาทางใกล้กำแพงริมน้ำ เนื่องจากเมื่อขุดวังได้พบดินประจำผูกสำนวนมีตราเป็นรูปต่าง ๆ และบางก้อนก็มีรอยหยิกเล็บมือ ศาลหลวงคงถูกไฟไหม้เมือเสียกรุง ดินประจำผูกสำนวนจึงสุกเหมือนดินเผา มีสระน้ำอยู่ในศาลาลูกขุนใน สระน้ำนี้ในจดหมายเหตุซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การของขุนหลวงหาวัด ว่าเป็นที่สำหรับพิสูจน์คู่ความให้ดำน้ำในสระนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ากล่าวจริงหรือกล่าวเท็จ

กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นหลักกฎหมายที่ลูกขุนฝ่ายในศาลหลวงจะต้องยึดถือปฏิบัติ และใช้ในการวินิจฉัยคดี มีบทกำหนดลักษณะของตุลาการ ข้อพึงปฏิบัติของตุลาการ คำสั่งสอนตุลาการ
พระราชศาสตร์ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีของพระมหากษัตริย์ เช่น การวินิจฉัยคดีที่ราษฎรฎีกา เป็นต้น ซึ่งต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมาจนกลายเป็นกฎหมาย
พระราชกฎหมาย กำหนดกฎหมายอื่น ๆ เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ทรงตราขึ้นตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละสมัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
การลงโทษผู้กระทำผิดในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรุนแรงมากถึงขั้นประหารชีวิต การประหารชีวิตโดยทั่วไป ใช้วิธีตัดศีรษะด้วยดาบ แต่ถ้าเป็นคดีกบฎประหารชีวิตด้วยวิธีที่ทารุณมาก การลงโทษหนักที่ไม่ถึงขั้นประหารชีวิตจะเป็นการลงโทษทางร่างกายให้เจ็บปวดทรมานโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบ

[แก้ไข]
สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชภารกิจในการสงคราม เพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่าและการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นบึกแผ่น ประกอบกับพระองค์ทรงครองราชย์เพียง 15 ปี จึงมิได้เปลี่ยนแปลงระบบการยุติธรรมคงใช้กฎหมายและระบบศาลของกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมา

[แก้ไข]
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระมหากษัตริย์ไทยทรงแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งอีกครั้งว่าพระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม ให้แก่อาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง เมื่อนายบุญศรีช่างเหล็กหลวงได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีโดยอำแดงป้อมผู้เป็นภรรยาได้นอกใจทำชู้กับนายราชาอรรถและมาฟ้องหย่านายบุญศรีไม่ยอมหย่าให้ แต่ลูกขุนตัดสินให้หย่าได้ นายบุญศรีเห็นว่าตัดสินไม่เป็นธรรมจึงร้องทุกข์ถวายฎีกา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสอบสวน พบว่าลูกขุนตัดสินต้องตรงความกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า “ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าให้หญิงหย่าชายได้” พระองค์ทรงพระราชดำริว่า หลังจากเสียกรุงแก่พม่าแล้ว มีการดัดแปลงแต่งเติมกฎหมายให้ฟั่นเฟือนวิปริต ขาดความยุติธรรม สมควรที่จะชำระสะสางใหม่เพื่อให้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรวจสอบกฎหมายต่าง ๆ ให้ตรงตามพระธรรมศาสตร์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ และเพื่อป้องกันการดัดแปลงแก้ไขจึงทรงโปรดให้จัดทำเป็น 3 ฉบับมีข้อความตรงกันแยกเก็บไว้ที่ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง แห่งละ 1 ฉบับแต่ละฉบับประทับตราเป็นสัญลักษณ์ 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว เรียกว่า กฎหมายตราสามดวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระทัยใส่ในการพิจารณาคดีกับทรงห่วงใยในการดำเนินคดีต่ออาณาประชาราษฎร์ จึงทรงให้ขุนศาลตุลาการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว โดยการกำหนดขั้นตอนให้ปฏิบัติหากมีปัญหาให้นำความกราบบังคมทูล พระมหากรุณาห้ามกดความของราษฎรให้เนิ่นช้าเป็นอันขาดพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ทรงมีพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งต่องานศาล และกระทรวงยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไป ในด้านการพิจารณาคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรมนั้น หลักใหญ่ยังคงใช้วิธีเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายที่ใช้บังคับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เป็นกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่รวบรวมใหม่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ซึ่งต่อมาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติใหม่เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัยการบังคับใช้กฎหมายและระบบพิจารณาคดีแบบกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกไม่มีปัญหา แต่นานเข้ากรุงรัตนโกสินทร์มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบศาลในการพิจารณาคดีกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับมาแต่โบราณไม่เหมาะสม เนื่องจากการพิจารณาไต่สวนคดีล้าสมัย เช่น การทรมานให้รับสารภาพ และการลงโทษที่รุนแรงและทารุณต่าง ๆ ปัญหานี้เริ่มชัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาวต่างประเทศขอทำสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตไม่ยอมขึ้นศาลไทย เริ่มจากประเทศอังกฤษขอตั้งศาลกงสุลประเทศแรก เพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับของอังกฤษตกเป็นจำเลย ต่อมาชาติอื่น ๆ ก็ขอตั้งศาลกงสุลของตนบ้าง เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ทำให้คนไทยต้องเสียเอกราชทางศาลบางส่วนไปเมื่อมีกรณีพิพาทกับชาวต่างประเทศ มีผู้พิพากษาเป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำต้องปรับปรุงการศาลให้ทันสมัย โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายมารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน จัดตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ร.ศ. 101) โปรดเกล้าให้จารึกเรื่องที่ทรงพระราชดำริให้สร้างศาลหลวงนี้ไว้ในหิรัญบัตรบรรจุหีบไว้ในแท่งศิลาใหญ่ ซึ่งเป็นศิลาปฐมฤกษ์ เพื่อให้เป็นสิ่งสำคัญประจำศาลสืบไปภายหน้า ขอให้ธรรมเนียมยุติธรรมนี้จงเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลสมดังพระบรมราชประสงค์โดยสุจริตศาลสถิตย์ยุติธรรมนี้เป็นที่ประชุมของลูกขุนตระลาการ ขุนศาลทุกกระทรวง และกำหนดให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่พิจารณาคดี ีและศาลยุติธรรมอยู่ฝ่ายเดียวมิให้เกี่ยวกับราชการอื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษากฎหมายต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ทุกประเภทให้อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อจะให้สอบสวนง่ายทำให้คดีเสร็จเร็วขึ้น

ต่อมา 1 ปีประเทศอังกฤษยอมผ่อนปรนเอกราชทางการศาลกับไทย โดยยอมให้ตั้งศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก ศาลนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาไทย และกงสุลอังกฤษนั่งร่วมกันพิจารณาคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความกันเอง หรือคนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่อังกฤษก็ยังสงวนสิทธิที่จะถอนคดีไปให้ศาลกงสุลอังกฤษพิจารณาคดีเอง

ต่อมาปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงยุติธรรม โดยใช้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นที่ทำการ โดยเริ่มจากการรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ก่อนทำให้ศาลในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีถึง 16 ศาลเหลือเพียง 7 ศาล ครั้นรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 ได้รวบรวมศาลหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นศาลมณฑลสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยเริ่มจากตั้งศาลมณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัถยาในพระราชวังจันทร์เกษมเป็นที่ทำการ หลังจากนั้นได้ตั้งศาลมณฑลอื่น ๆ ตลอดราชอาณาจักร ศาลหัวเมืองในขณะนั้นมี 3 ประเภท คือ ศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง เมื่อสถาปนากระทรวงยุติธรรมและจัดระเบียบการตั้งศาลหัวเมืองแล้ว ได้มีการปฏิรูปศาลให้ทันสมัยมากมาย เช่น ดำเนินการแยกอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการออกจากกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก ส่วนหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดี การสืบพยานให้รวดเร็วและทันสมัย เปลี่ยนโทษเฆี่ยนตีมาเป็นโทษจำขังแทน เลิกวิธีพิจารณาคดีโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. 115 โดยยกเลิกวิธีทรมานต่าง ๆ ให้รับสารภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายและระบบศาลต่าง ๆ อีกหลายประการ นับว่าการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมก่อให้เกิดการพัฒนาทางศาลอย่างมากมาย ภายหลังจากการตั้งกระทรวงยุติธรรม 1 ปีก็ยกเลิกศาลกรมกองตระเวน ตั้งใหม่เป็นศาลโปริสภา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดศาลแขวงต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อยสำหรับประชาชน 4 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ คือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับในคดีครอบครับและมรดก สำหรับอิสลามศาสนิกที่มีภูมิลำเนาใน 4 จังหวัดดังกล่าว มีดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาร่วมด้วยซึ่งเป็นการขยายความยุติธรรมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นและยังถือเปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอิตาลี ยินยอมให้คนในบังคับของตนที่อยู่ในภาคเหนือขึ้นศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ทำนองเดียวกับ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญายินยอมให้คนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เมื่อประเทศไทยใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เมื่อ พ.ศ. 2451 อันเป็นประมวลกฎหมายระบบสากลฉบับแรกของไทย หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยทำสนธิสัญญาคืนอำนาจศาลให้ไทยโดยให้คนในบังคับของตนขึ้นศาลไทย

ต่อมาปี พ.ศ. 2455 จึงมีการแยกอำนาจตุลาการออกจากกระทรวงยุติธรรมตามระเบียบจัดราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 ซึ่งกำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจบังคับบัญชาฝ่ายธุรการของกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียว ส่วนอธิบดีศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ การโยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา และวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเป็นหลักที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนศาลเมืองเป็นศาลจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองกระทรวงมหาดไทยที่เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี

ในปี พ.ศ. 2457 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนจากเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในปี พ.ศ. 2462 ส่วนประเทศพันธมิตรที่ร่วมชนะสงคราม ก็ได้รับรองเอกราชทางการศาลไทยด้วย ในช่วงนี้นับว่าไทยได้รับเอกราชทางการศาลเกือบสมบูรณ์ นอกจากนั้นประเทศสัมพันธมิตรก็ยังให้สนธิสัญญาว่า หากประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมครบถ้วนแล้วจะให้เอกราชทางการศาลไทยโดยสมบูรณ์ภายใน 5 ปี ในขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อยู่หนึ่งฉบับ และได้รีบเร่งร่างกฎหมายที่เหลืออีก 3 ฉบับ

พ.ศ. 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ปวงชนชาวไทย การดำเนินการในเรื่องเอกราชทางการศาลได้กระทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ครบถ้วนเป็นฉบับสุดท้าย

พ.ศ. 2481 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประเทศต่าง ๆ จึงได้ยกเลิกสนธิสัญญาโดยให้เอกราชทางการศาลไทยจนหมดสิ้นซึ่งเร็วกว่ากำหนด 2 ปี พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนศาลมณฑลเป็นศาลจังหวัด และเรียกศาลในสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรม แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น

ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลขึ้นอีกหลายศาล กล่าวคือ พ.ศ. 2495 จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก และต่อมาได้ขยายไปต่างจังหวัดด้วย

พ.ศ. 2523 จัดตั้งศาลแรงงานในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2525 จัดตั้งศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนย่านฝั่งธนบุรี

พ.ศ. 2529 จัดตั้งศาลภาษีอากรกลางในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2535 เปลี่ยนแปลงศาลคดีเด็กและเยาวชนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อขยายการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 เป็นวาระครบ 100 ปี กระทรวงยุติธรรม มีศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดังนี้

ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของประเทศมีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา

ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลางมี 4 ศาล ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีเขตอำนาจในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจในเขตพื้นที่ภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคใต้

ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องในเรื่องชั้นคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลแขวงต่าง ๆ กับศาลชั้นต้นในจังหวัดอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดทางด้านการยุติธรรมนับตั้งแต่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก็ได้สร้างความเจริญให้แก่ศาลและวงการตุลาการของไทยในการพัฒนาก้าวหน้าควบคู่กันมาโดยตลอดจนกระทั่งเป็นศาลที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรม ก็มีบทบาทในการสนับสนุนงานยุติธรรมของศาลด้านงบประมาณ งานด้านอาคารสถานที่ และงานธุรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เช่น จัดตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลางและสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ทำให้ลดจำนวนคดีลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่งจึงขยายงานคุมประพฤติ ตั้งเป็นกรมคุมประพฤติ ใน พ.ศ. 2535 จัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เพื่อเผยแพร่การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องขึ้นศาลในด้านการพัฒนาที่ทำการของศาลนั้น กระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการจัดตั้งที่ทำการศาลเพิ่มเติมตลอดมา เพื่อให้เพียงพอต่อการพิจารณาคดีและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในโอกาสครบ 100 ปีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2535 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเปิดอาคารที่ทำการใหม่ สำหรับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลภาษีอากรกลาง จะเห็นได้ว่ากระทรวงยุติธรรมนั้นได้ปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรองรับงานยุติธรรมของศาลได้ ใน พ.ศ. 2534 แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน การบริหารงานราชการของกระทรวงยุติธรรมมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วและเป็นธรรม อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันกับศาลยุติธรรม ดังนั้นศาลและกระทรวงยุติธรรม จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลา 100 ปี

สถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่องานศาลและกระทรวงยุติธรรม คือ องค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นต้นกำเนิดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบศาลและงานยุติธรรม ดังที่ทราบกันมาแล้วแม้ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงให้ความสำคัญต่องานยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่าบูรพกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แม้จะมีพระชนม์น้อยแต่ทรงสนพระทัยในกิจการศาลเป็นอันมาก ทรงเสด็จเหยียบศาลหัวเมือง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดนครปฐม และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา การเสด็จเหยียบศาลถึง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จประทับบัลลังก์ร่วมกับพระอนุชา ในการพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้พิพากษา คดีที่ทรงเป็นประธานในการพิจารณาพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง เป็นคดีลักทรัพย์ซึ่งจำเลยไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษตามพระบรมราชวินิจฉัย เป็นผลให้จำเลยทั้ง 2 คดีมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เป็นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศาลยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ดังกระแสพระราชดำรัสในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงยุติธรรม และศาลยุติธรรม นับตั้งแต่เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2495 “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้มีไมตรีจิตมาร่วมชุมนุมต้อนรับข้าพเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน การศาลยุติธรรมมีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัยและความเที่ยงธรรมของคนทั้งประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมสม่ำเสมอเป็นหลักอันคนทั้งปวงพึงยึดถือเป็นที่พึ่งได้เนืองนิจ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสาทความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่กาลสมัย ข้าพเจ้ามีความพอใจในประวัติของกระทรวงยุติธรรมและชื่อเสียงของศาลยุติธรรมที่ได้เป็นมา และความสามัคคีกลมเกลียวเป็นสมานฉันท์ของบรรดาข้าราชการกระทรวงยุติธรรม” ศาลยุติธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศและด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ทำให้ศาลในพระปรมาภิไธยมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้สามารถประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่านั้นในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วผู้ต้องคำพิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสสุดท้ายที่จะยื่นเรื่องราวต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษได้อีก องค์พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม และเป็นที่พึงสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริงสืบมาแต่โบราณกาล


--------------------------------------------------------------------------------