วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิชาก้าวทันโลกศึกษา 2 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 (กฎหมายที่ประชาชนควรรู้)



ความหมายของกฏหมาย

ได้มีผู้ให้ความหมายของกฏหมายไว้ดังนี้



กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฏหมายไทย

"กฏหมาย คือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฏรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตาม ธรรมดาต้องลงโทษ"
ดร.สายหยุด แสงอุทัย

"กฏหมาย คือข้อบังคับของรัฐที่กำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ"

กฏหมาย สามารถแยกได้เป็น 2 คำคือ คำว่ากฏซึ่งแผลงมาจากคำว่า กด หรือกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายและถูกลงโทษ
จากคำจำกัดความของกฏหมายข้างต้น สามารถสรุปความหมายของกฏหมายได้ว่า หมายถึง ระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือประเทศ ได้กำหนดมาเพื่อใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมืองหรือบังคับความประพฤติของประชาชนในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฏหมาย

จุดประสงค์และความสำคัญของกฏหมาย




จุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาก็เพื่อ จัดระเบียบให้กับสังคม ทั้งยังช่วยรักษาความมั่นคงให้รัฐ ระงับข้อพิพาท ประสานผลประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาระเบียบของสังคม เมื่อสังคมมีระเบียบจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
จากจุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาข้างต้น สามารถสรุปความสำคัญของกฏหมายได้ดังนี้

-เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกำหนดแนวทางพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นระเบียบและเพื่อความสงบเรียบร้อย


-เป็นเครื่องมือในการกำหนดและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแก่ประชาชนในรัฐ


-เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ภายในรัฐ


-เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องอันตรายและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับสังคมหรือรัฐ


-เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง

องค์ประกอบของกฎหมาย







(๑) สถาบัน (๒) ตำแหน่ง (๓) หน้าที่ (๔) อำนาจ (๕) ความรับผิดชอบ






“สถาบัน” ได้แก่ ส่วนราชการ (สถานที่ทำงาน) ที่กฎหมายตั้งขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ และ อำนาจในการปฏิบัติราชการ หรือ ทำงานของรัฐบาล มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามหน้าที่การงาน






“ตำแหน่ง” หมายความถึง ฐานะทางราชการ ของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในส่วนราชการต่างๆ มีหน้าที่ และ อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด มีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น






“อำนาจ” หมายความถึง






๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.






๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์.






"หน้าที่" และ อำนาจ เป็นของคู่กัน และจะต้องเป็น หน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น กฎหมายมักจะใช้เป็นคำรวมกันไป คือ “อำนาจหน้าที่”






กฎหมายจะกำหนด หน้าที่ และ อำนาจออกเป็น ๒ ประการ คือ อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ที่เป็น ส่วนราชการ ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ กับ หน้าที่ และ อำนาจของบุคคล ที่เป็น ข้าราชการ หรือ เจ้าพนักงาน ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆในส่วนราชการต่างๆ.






การปฏิบัติหน้าที่บางอย่างไม่ต้องใช้อำนาจ เช่น หน้าที่ทำความสะอาดสถานที่ราชการ หน้าที่ส่งเอกสาร หน้าที่ของพนักงานการพิมพ์หนังสือ เป็นต้น.






“ความรับผิดชอบ” หมายความถึง การยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการ ที่ได้ทำไป.






แต่ เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานไว้ จะหมายความถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งหมายความถึงภาระหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ให้สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี เกิดประโยชน์ แก่ทางราชการ และปวงชนชาวไทย สมความมุ่งหมาย หรือ เป้าประสงค์ ของทางราชการ หากทำไม่สำเร็จ หรือ ทำแล้วเกิดความบกพร่องเสียหาย ก็ไม่ได้รับ ความดีความชอบ ซึ่ง อาจถูกโยกย้าย ให้พ้นจากหน้าที่ได้ หากเกิดความเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามความนิยม หรือ ความต้องการของสังคม หรือ ของบุคคลที่รู้ผิด รู้ชอบ ตามปกติ ที่ในทางกฎหมายใช้คำว่า "วิญญูชน" อาจต้องมีความผิดทางวินัย หรืออาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดได้ หากกระทำการใดๆอันเข้าลักษณะที่กฎหมายถือว่าเป็นการทำละเมิด ยิ่งกว่านั้น หากการกระทำเข้าลักษณะที่กฎหมายอาญา บัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ก็ต้องรับโทษทางอาญาอีกด้วย




ประเภทของกฏหมาย







การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ






1. กฏหมายระหว่างประเทศ






กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น






2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน






กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ






รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ


กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ


กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน


กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล


พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด


กฏหมายเอกชน


เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้






กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น


กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง


กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง


สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

ศักดิ์ของกฎหมาย ( hierachy of law) คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมาย


การจัดศักดิ์ของกฎหมายมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย เช่น หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่อยู่ในลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายสูงกว่านั้นมิได้ และอาจถูกยกเลิกไปโดยปริยาย



เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย



เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายได้แก่ การพิจารณาจากผู้ตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ



สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้แทนของปวงชนคือรัฐสภา เป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันใช้อำนาจสูงสุดแห่งรัฐในการออกกฎหมาย จึงให้มีศักดิ์สูงสุด ส่วนที่มีศักดิ์รองลงมาได้แก่ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ซึ่งได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงผ่านไปยังวุฒิสภา เป็นการแยกกันใช้อำนาจ



ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย



ว่ากันแต่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษรมากที่สุด



กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร



รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย



มักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมูญ" (: constitutional law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (: Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง



กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติแต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ



พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา



พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น



พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ



กฎองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติชั่วแต่ว่าใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น



กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน



รองศาสตราจารย์ทัชชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง



ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร



1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้



2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย



3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น